“120 วัน วาระพืชกระท่อม”: ชายแดนใต้ผนึกกำลังปราบปราม ฟื้นฟู สร้างโอกาส ดันอาชีพ

ภายใต้ปฏิบัติการ “120 วัน วาระพืชกระท่อม” ที่ขับเคลื่อนโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เกิดกระแส “ไม่เอากระท่อม” อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2568 โดยมีเป้าหมายคือการกวาดล้างพืชกระท่อมและยาเสพติด พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งและโอกาสใหม่ๆ ให้กับชุมชน



นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ย้ำว่า “ถนนสายหลักทุกสาย ภายใน 120 วัน ต้องไม่มีการค้าขายพืชกระท่อม” และเน้นย้ำถึงพลังสำคัญจากภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาว่า “พลังจิตอาสาและพลังของผู้นำศาสนาจะต้องเข้ามาช่วย พวกเราต้องร่วมกันใช้พลังทางสังคม กดดัน จนทำให้คนเหล่านั้นอยู่ไม่ได้” โดยชี้ว่า ผู้นำศาสนาได้วินิจฉัยแล้วว่า พืชทุกชนิดที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่ง “ฮะรอม” (สิ่งต้องห้าม) และขอชื่นชมพลังชุมชนที่ลุกขึ้นมาปฏิเสธพืชกระท่อมกันเอง เพราะ “ความยั่งยืนสู้พลังชุมชนที่ลุกขึ้นมาทำกันเองไม่ได้” และย้ำว่ารัฐบาลและทุกหน่วยงานกำลังขับเคลื่อนเต็มที่ โดยคาดหวังผลสำเร็จด้านยาเสพติดภายในวันที่ 30 กันยายน นี้
นายแพทย์ สุนทรพจน์ ชูช่วย รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ชี้แจงถึงความสับสนของสังคมเกี่ยวกับใบกระท่อม โดยระบุว่าแม้กระท่อมจะมีสรรพคุณทางยาและเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยจริง แต่ปริมาณที่ใช้เป็นยาจะน้อยมาก เพียงไม่กี่ใบเท่านั้น ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ การนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่นำใบกระท่อมมาต้มในปริมาณมาก บางครั้งสูงถึงครึ่งกิโลกรัมต่อครั้ง การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดสารสกัดเข้มข้นมากเกินไป นำไปสู่อาการมึนเมาและปัญหาด้านสุขภาพร้ายแรง ผลกระทบต่อสุขภาพที่พบนอกจากการมึนเมา ได้แก่ 1. ปัญหาจิตเวช พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำกระท่อมเข้มข้นอาจมีอาการทางจิตเวชได้ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ 2. โรคไต มีผู้ป่วยวัยรุ่นบางรายที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการไตวายเฉียบพลันจากการบริโภคน้ำกระท่อมในปริมาณมากเกินไป
นายแพทย์ สุนทรพจน์ ย้ำเพิ่มเติมว่า การบริโภคใบกระท่อมในปริมาณที่มากเกินไปจะออกฤทธิ์คล้ายกับ เฮโรอีน และมีอาการถอนพิษที่รุนแรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม
ส่วนนายแอ หนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี กล่าวว่า การตัดสินใจเลิกยาเกิดจากความต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิต และไม่อยากให้แม่เสียใจอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมอาชีพจาก ศอ.บต. เพื่อให้โอกาสได้กลับไปทำในช่วงที่กลับไปอยู่กับครอบครัวด้วย จึงอยากขอบคุณ ทาง ศอ.บต. ที่ส่งเสริมอาชีพให้
ด้าน ชาวบ้านในพื้นที่โคกโพธิ์ ก็ยืนยันว่า “ชาวบ้านทุกคนปฏิเสธพืชกระท่อมและยาเสพติด ดีใจที่ทุกหน่วยร่วมกันปราบปราม มั่นใจว่าอนาคต กระท่อมจะต้องกลับคืนบัญชียาเสพติด”



ขณะที่ หลายพื้นที่ได้นำ “หลักฮูกุมปากัต” (ธรรมนูญหมู่บ้าน) มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน อาทิ ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี อ.เมือง จังหวัดยะลา ซึ่งส่งผลให้ร้านค้ากระท่อมตามเส้นทางต่างๆ ทยอยปิดตัวลง นอกจากนี้ ปอเนาะหลายแห่ง โดยเฉพาะ ปอเนาะใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กลายเป็นศูนย์ฟื้นฟูเยาวชนผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักศาสนบำบัด มีผู้นำศาสนาในพื้นที่มาให้ความรู้แก่ประชาชนว่า “สิ่งที่มึนเมาทุกชนิดเป็นฮะรอม” (สิ่งต้องห้าม) ตามหลักศาสนาอิสลาม
จากแผนปฏิบัติการ “120 วัน วาระพืชกระท่อม” ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จึงไม่เพียงเป็นการปราบปรามยาเสพติด แต่เป็นการสร้างปรากฏการณ์แห่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้นำศาสนา เพื่อพลิกโฉมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน
ตอริก สหสันติวรกุล รายงาน
อ่านแล้ว55 times!