แถลงการณ์ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.๑
ประณามการซ้อมทรมานอันขัดหลักสิทธิมนุษยชน กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์
จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มชายฉกรรจ์ ร่วมกันทำร้ายร่างกายและข่มขู่ชายคนหนึ่งด้วยวิธีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวเพื่อทรมานให้ต้องยินยอมทำตามความประสงค์ ซึ่งภายหลังได้ข้อยุติว่าเป็นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันซ้อมทารุณผู้ต้องหา เกิดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ โดยชายผู้ถูกทำร้ายเสียชีวิต
การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง โดยการการทรมาน(Torture) ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Right) ปรากฏใน”อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT)”ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เป็นต้นมา การลงโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการใดที่มีลักษณะการทรมานมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะและไม่สามารถจะยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้พ้นจากความรับผิดได้
นอกจากนี้ยังพบเห็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ชอบ ทั้งการรับแจ้งความ การสืบสวน การสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน การจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งมักมีข้อกังขาในการใช้อำนาจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การซ้อมการทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ การประจานผู้ต้องหาต่อสาธารณชน การวิสามัญฆาตกรรม รวมถึงการใช้อำนาจ กำลัง และอาวุธในการปราบปรามผู้เห็นต่าง เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ควรแก่การแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.๑ โดยผู้มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักในความพยายามหาทางแก้ไข ป้องกัน มิให้ประชาชนต้องถูกกระทำดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะที่เป็นต้นน้ำแห่งกระบวนการยุติธรรม ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจริงใจในการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง โดยปราศจากการแทรกแซงช่วยเหลือ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.๑ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ และแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยปรับงานสอบสวน งานพิสูจน์หลักฐาน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดปัญหาการรวบอำนาจการดำเนินคดีอาญาชั้นต้น อันส่งผลให้เกิดปัญหาการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การสร้างพยานหลักฐานเท็จ รวมทั้งการผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการซ้อมทรมาน ที่ค้างการพิจารณาในคณะกรรมาธิการ และอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยมาช้านานให้หมดสิ้นไป
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.๑ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวอย่างจริงใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และประชาชน และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สืบไป
๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
รายชื่อผู้ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์
- นายกฤษณ์ ขำทวี
2.นายสมชาย จรรยา - นายนรเทพ บุญเก็บ
4.นายศุภมา จิตต์เที่ยง
5.นายพิสุทธิ์ รัตนวิลัย
6.นายศิริพันธุ์ เรืองจินดา
7.นายสุทัศน์ ประสิทธิกุล - นายภาวุฒิ สุกทอง
- นางพรทิพย์ เตชะสมบูรณากิจ
10.นายสมิษฐิ์ มหาปิยศิลป์ - นายสันติพงษ์ มูลฟอง
- นางเฉลียว ศาลากิจ
13 นายแทนคุณ จิตต์อิสระ
อ่านแล้ว552 times!