พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการ ” เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป “
” โครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ณ กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี “
ศิริพร จงศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ผลิตรายการคืนคุณให้แผ่นดิน และ เอกริณชย์ บัวเริง ช่างภาพรายการคืนคุณให้แผ่นดิน ลงพื้นที่ ณ กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อบันทึกเทปในการปฎิบัติงานของสำนักงานปศุสัตว์เลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยนายเสถียร จำนงกุล ปศุสัตว์อำเภอเลาขวัญ
สัตวแพทย์หญิงธาราทิพย์ พุ่มระชัฎร์ นายสัตวแพทย์ปฎิบัติการ
และ นายอนุกูล ขวัญอ่อน เจ้าพนักงานสัตวบาล
ลงพื้นที่มาตรวจกระบือและเยี่ยมเยือนเกษตรกรที่เลี้ยงกระบือในกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ กาญจนบุรี
กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ
เป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเลาขวัญ โดยมีนายไตรมิตร หงส์ทอง เป็นประธานกลุ่ม ที่ตั้งกลุ่ม บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ 1 ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
วัตถุประสงค์
- พัฒนาพันธุ์กระบือให้มีคุณภาพและลักษณะที่ดีขึ้น
- เป็นศูนย์กระจายกระบือไปสู่เกษตรที่สนใจ
- รักษาภูมิปัญญาในการการฝึกกระบือใช้งานในด้านการเกษตร และต่อยอดในการเป็นตัวอย่างในการนำกระบือมาเป็นตัวขับเคลื่อน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือโคกหนองนา ให้เป็นรูปธรรม
ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ มีสมาชิกจำนวน 25 ราย และมีกระบืออยู่ในกลุ่ม 75 ตัว
การผสมพันธุ์ และ ปรับปรุงพันธุ์กระบือ แบ่งได้ 2 ประเภท
- โดยการใช้พ่อพันธุ์ กระบือพ่อพันธุ์ 1 ตัว สามารถคุมฝูงแม่พันธุ์ได้ 20 ตัว
- การผสมเทียม คือการนำน้ำเชื้อของกระบือพันธุ์ดีมาผสมกับแม่กระบือที่เป็นสัดปัจจุบันกรมปศุสัตว์มี
หน่วยผสมเทียมที่สามารถให้บริการได้เกือบทุกอำเภอทั่วประเทศ ผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตการเป็นสัดของแม่กระบือของตัวเอง เมื่อเห็นแม่กระบือเริ่มเป็นสัดต้องรีบไปแจ้งเจ้าหน้าที่ผสมเทียมทันที ไข่จะเริ่มตกหลังจากสิ้นสุดการเป็นสัดแล้ว12 ถึง 24 ชั่วโมง เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมเทียมคือ 24 ถึง 36 ชั่วโมงหลังจากเริ่มเป็นสัด
เพื่อสะดวกในการผสมเทียมเกษตรกรควรมีการจัดทำซองผสมเทียมที่บ้านหรือภายในหมู่บ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่มาทำการผสมเทียมควรมีคนคอยช่วยอย่างน้อย 2 คน แม่กระบือที่ได้รับการผสมแล้วผู้ เลี้ยงควรกักอยู่ในคอกที่มีที่ร่ม ไม่ควรปล่อยให้แม่กระบือตากแดดหรือวิ่งไปในท้องทุ่งเพราะจะทำให้โอกาสผสมติดต่ำลง
ข้อดีของการผสมเทียมคือ ไม่ต้องมีกระบือพ่อพันธุ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร
ข้อเสียคือ ผู้เลี้ยงต้องคอยดูการเป็นสัดของกระบือเพศเมีย
กระบือชื่อมงคล ได้รับการผสมเทียมในเดือนมิถุนายน ตรวจท้องไม่พบการฝังตัวของตัวอ่อน รอการเป็นในรอบถัดไปเพื่อผสมเทียมหรือการใช้พ่อพันธุ์
โรคพยาธิ
โรคพยาธิทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไม่สมบูรณ์ การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ ผสมติดยาก
พยาธิภายนอก พยาธิภายนอกของกระบือมีหลายชนิด เช่น เห็บ เหา ไร เหลือบ ยุง ริ้น แมลงวัน ขี้เรื้อน พยาธิพวกนี้จะดูดเลือด น้ำเหลืองจากตัวสัตว์ทำให้อ่อนแอ พวกเหาและขี้เรื้อนจะทำให้เกิดการคัน รำคาญ ทำให้เกิดความเครียดจนทนไม่ได้ ป้องกันโดยการใช้ยารูปแบบฉีดและราดหลัง เช่นยากลุ่มไอเวอเมคติน หรือ ม็อกซี่เด็กติด เป็นต้น ทุก 1-2 เดือน
พยาธิภายใน ที่ทำให้เกิดอันตรายในลูกกระบือ คือพยาธิตัวกลม พยาธิไส้เดือน หรือพยาธิเส้นด้าย และพยาธิปากขอ กระบือที่โตแล้วจะเป็นพยาธิใบไม้ในตับ สามารถใช้ยาในการป้องกันและรักษาทั้งในรูปแบบฉีดและกิน เช่น ตัวยาไพแรนทอล หรือ อัลเบนดาโซล เป็นต้น
กระบือชื่อ ศิริ แม่ประดู่ มีปัญหาผิวหนังเป็นแผล มีการหลุดลอก จากการวินิจฉัยเบื้องต้น เป็นโรคพยาธิผิวหนังเกิดจากไร ริ้น บริเวณคอก แก้ปัญหาโดยการทำความสะอาดคอก พ่นยาฆ่าแมลงบริเวณคอก และใช้ยาราดหลังตัวยา ม็อกซี่เด็กติด ตามปริมาณน้ำหนักตัวสัตว์(อัตราส่วนการใช้ยา น้ำหนักตัวสัตว์ 100 กิโลกรัม ต่อ ปริมาณยา 10 CC.)
และในอนาคตคาดหวังว่า ส่งเสริมเกษตรกรให้มีฟาร์มกระบือที่ได้มาตราฐานทั้งสถานที่และวิธีการเลี้ยงจนทำให้ได้พันธุ์กระบือที่มีรูปร่างขนาดใหญ่สมบูรณ์ ถูกต้องตามคุณลักษณะกระบือไทยแท้ ได้ลูกกระบือที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ในราคาสูงและมีตลาดที่กว้างขวางรองรับต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและแก้ปัญหาวิกฤตการณ์กระบือไทยอย่างเป็นรูปธรรม
อย่าพลาดติดตามชมโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ณ กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยเลาขวัญ กาญจนบุรี ในรายการคืนคุณให้แผ่นดิน ทุกวันจันทร์ เวลา 23.30 น. – 00.00 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
คุณภูวฤทธิ์ พุ่มพวง
พิธีกรดำเนินรายการคืนคุณให้แผ่นดิน
สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
CR: รายการคืนคุณให้แผ่นดิน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
อ่านแล้ว1560 times!