มทรส. รุกช่วยเศรษฐกิจฐานรากสร้างเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน

แบ่งปันข่าวนี้ :

มทรส. รุกช่วยเศรษฐกิจฐานรากสร้างเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน
นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ(มทรส.)เปิดเผยว่า มทรส.นอกจากมีการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นนักปฏิบัติที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อสร้างและพัฒนางานด้านวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย และจากการรายงานในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย ผศ.พาขวัญ ทองรักษ์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร แจ้งว่า มทรส.ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านวิถีวิทย์กุ้งก้ามกรามองค์รักษ์ ตำบลองค์รักษ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งต่อเนื่องมาประมาณ 30 ปีในพื้นที่ 10,000ไร่ แต่ต้องประสบปัญหาหนี้สิน จากการขาดทุนสะสม ต้นทุนการเลี้ยงสูงและได้รับราคากุ้งที่ไม่เป็นธรรมด้วย จึงร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาเข้าไปให้ข้อแนะนำโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมไปปรับใช้โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งให้โตเร็ว ปลอดโรค อัตราการรอดตายสูง ลดต้นทุนการผลิต พร้อมๆกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่ากุ้งก้ามกรามกุ้งขาวที่มีขนาดเล็กและเสียหายระหว่างการเลี้ยง และการจำหน่าย นำมาผลิตเป็นน้ำพริกกุ้งเมืองเหน่อ อาทิน้ำพริกเผาผัดกุ้ง น้ำพริกกุ้งสมุนไพร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 37 ราย พื้นที่เลี้ยงกุ้ง 460 ไร่ และจัดให้มีการบริหารจัดการกลุ่มเป็นกลุ่มเลี้ยงกุ้ง กลุ่มแปรรูปกุ้ง และกลุ่มซื้อขายกุ้ง
นายไพศาล บุรินทร์วัฒนาอธิการบดี มทรส.กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการดำเนินงานโครงการระยะ 1 ปีที่ผ่านมาสามารถลดการผูกขาดทางการตลาดได้มากกว่า 30% เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกออกไปจำหน่าย มีเงินหมุนเวียนในระบบการซื้อขายกุ้งของกลุ่มมากกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน (จากเดิมไม่มีเลย) ลดการสูญเสียจากการเลี้ยง มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกุ้งมีตราสินค้า บรรจุบรรจุภัณฑ์เหมาะสม สร้างรายได้เพิ่ม ลดหนี้สิน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขมากขึ้น ลดความกังวลและเกิดการปรับตัว สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ประการสำคัญภายใต้โครงการนี้นอกจากเกษตรกรได้ประโยชน์ดังที่กล่าวแล้วนักศึกษายังได้ร่วมในการออกแบบสร้างตราสินค้าออกแบบฉลากเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม นำเทคโนโลยีมาร่วมใช้งานจริง เป็นการเรียนรู้การปฏิบัติจริง ทำให้ มทรส.เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ซึ่ง เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย.

อ่านแล้ว570 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.