อนุทิน ลงพื้นที่เมืองกรุงเก่า เปิดงานขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เขตสุขภาพที่ 4

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ หอประชุมพระพิรุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (ศูนย์หันตรา) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเป็นประธานเปิดงานขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เขตสุขภาพที่ 4 โดยมี นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวรายงาน





พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ มี นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล และ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ร่วมถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 4 คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสาขาปลูกถ่ายอวัยวะ Palliative Care และ จักษุ ตลอดจนเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนใน 8 จังหวัด (สระบุรี, นนทบุรี,ลพบุรี, อ่างทอง, นครนายก, สิงห์บุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี) ของเขตสุขภาพที่ 4 และพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุข เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดำเนินงานบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวง และมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต ในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันอวัยวะและดวงตาบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตยังไม่เพียงพอต่อการนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยังมีผู้รอรับ การปลูกถ่ายอวัยวะถึง 5,817 ราย ขณะที่มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 429 ราย ส่วนผู้ป่วยกระจกตาพิการ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาไปแล้ว 5,049 ราย แต่ยังมีผู้รอคอยการปลูกถ่ายอีกจำนวนมากถึง 17,464 ราย



ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 4 ได้มีการขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตาใน 2 ส่วน คือ 1) ชุมชน ได้แก่ อสม. และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 2) หน่วยบริการ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. โดยมุ่งเน้นให้ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แนะนำช่องทางการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตา ค้นหาและแจ้งพยาบาลผู้ประสานการรับบริจาคฯ เข้าเจรจาให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจบริจาค โดยเฉพาะดวงตาที่แม้จะเสียชีวิตที่บ้านก็สามารถบริจาคได้ เพราะผู้บริจาคเสียชีวิตสมองตาย 1 ราย สามารถให้อวัยวะได้หลายรายการ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด (ซ้าย-ขวา) ลิ้นหัวใจ ตับอ่อน ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และกระจกตา

ซึ่งในปัจจุบันเขตสุขภาพที่ 4 สามารถปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ที่โรงพยาบาลสระบุรี และกำลังพัฒนาให้สามารถปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย มีการดำเนินงานในโครงการ “ พาผู้ป่วย กลับบ้าน ” ที่ทำให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการในเขตสุขภาพได้กลับมาผ่าตัดปลุกถ่ายกระจกตาใกล้บ้าน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

พร้อมเชิญชวนประชาชน ร่วมเป็นสะพานบุญ บริจาคอวัยวะและดวงตา เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับ เพื่อนมนุษย์ “ เป็นบุญของผู้ให้ เป็นชีวิตใหม่ของผู้รับ ” แจ้งความประสงค์บริจาคได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานกิ่งกาชาดอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ แจ้งโดยตรงที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โทร 1666
อ่านแล้ว334 times!