“แก้ยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยภูมิปัญญาไทย”ข้อมูลเปรียบเทียบ..โดย หมอพลเดช ผลักดันแบบพุ่งเป้า

แบ่งปันข่าวนี้ :

“แก้ยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยภูมิปัญญาไทย”ข้อมูลเปรียบเทียบ..โดย หมอพลเดช ผลักดันแบบพุ่งเป้า
.
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในการขจัดความยากจนทั่วประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรต้องรวมพลังเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มประชากรในส่วนล่างสุดของสังคมและนำพาประเทศให้สามารถก้าวพ้นสภาวะที่ติด“กับดักรายได้ปานกลาง”มาอย่างยาวนาน
ด้วยการบูรณาการจุดแข็งและนำศักยภาพของทุกภาคส่วนมาประกอบเครื่องเพื่อเอาชนะสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวนี้ให้ได้ ภายในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป
.
💡ศักยภาพ 5 ประการ 💡
.
เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยชุมชนเข้มแข็ง-เอาชนะความยากจน 25 ประการ ดังที่เคยวิเคราะห์ไว้ ประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
1).ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้นและพระราชทานให้กับคนไทย จนได้รับการยกย่องเชิดชูไปทั่วโลก
2).กระบวนการและเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ที่เกิดจากการดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากในการดำรงชีวิต เรียนรู้และปรับตัวของบรรดาปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนท้องถิ่นจากฐานล่างที่มีอยู่ทั่วประเทศ
3).ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นทิศทาง นโยบายและเป้าหมายใหญ่ของประเทศซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปอย่างเป็นขบวนและบูรณาการ
4).ระบบสวัสดิการแห่งรัฐและเครือข่ายสวัสดิการชุมชนที่หลากหลาย อันเป็นผลพวงจากงานพัฒนาสังคมทั้งของภาครัฐและการจัดการตนเองของชุมชนในระยะ50 ปีที่ผ่านมา
5).กระบวนการจิตอาสาและฐานทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ รวมทั้งคุณลักษณะนิสัยที่ดีงามของคนไทยที่คนทั่วโลกต่างยอมรับ


.
💡วัตถุประสงค์ 💡
.
“เอาชนะปัญหาความยากจนเรื้อรังของแผ่นดินภายใน 5 ปี ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จิตอาสาและภูมิปัญญาไทย เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9.”
.
.
💡แนวทางทั่วไป💡
.
ต้องสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทุกกระทรวง เร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
เพราะมีแต่การดำเนินเช่นนั้นจึงจะส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ระบบราชการและความมั่นคง รวมทั้งแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างบูรณาการ.
ที่นอกเหนือไปจากนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายหรือโครงการพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับการมุ่งเอาชนะความยากจนที่เรื้อรังในแผ่นดินให้สำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป
.
💡โครงการพิเศษเฉพาะกิจ💡
.
ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่
.
แนวทางที่ 1 พุ่งเป้าขจัดพื้นที่อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ด้วยการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้าง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากนโยบายการพัฒนา จัดการปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังเรื่องที่ดินทำกินสำหรับอำเภอด้อยโอกาส และแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย ให้สำเร็จลุล่วงโดยพื้นฐาน.
.
พื้นที่เป้าหมาย
.
อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ในพื้นที่ยากจนจำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ 1.ปัตตานี 2.แม่ฮ่องสอน 3.ตาก 4.กาฬสินธุ์ 5.นราธิวาส 6.บุรีรัมย์ 7.นครพนม 8.ศรีสะเกษ 9.สระแก้ว 10.ชัยนาท 11.พัทลุง 12.น่าน 13.ยะลา 14.สระแก้ว 15.อ่างทอง 16.อำนาจเจริญ 17.กาญจนบุรี 18.มุกดาหาร 19.ชัยภูมิ
.
อำเภอที่มีพื้นที่แล้งซ้ำซากระดับรุนแรง ในภาคเหนือ 17 จังหวัด 135 อำเภอ และในภาคอีสาน 20 จังหวัด 165 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 2.5 ล้านไร่
.
แนวทางที่ 2 พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบากให้หลุดพ้น ด้วยกระบวนการจับคู่พี่เลี้ยงจิตอาสาและโดยอาศัยฐานทุนทางสังคม-วัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นเป็นปัจจัยหลัก งบประมาณรัฐเป็นปัจจัยเสริม
.
เป้าหมาย พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศก้าวพ้นความยากจน. มีหลักประกันในด้านปัจจัยสี่ พลังงานไฟฟ้าและน้ำสะอาด. เข้าถึงสวัสดิการรัฐและสวัสดิการชุมชน. มีกัลยาณมิตรและชุมชนเข้มแข็ง.
.
💡ระยะเวลาดำเนินการ💡
5 ปี (2564-2569)
.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 เม.ย. 2564

อ่านแล้ว459 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.