“ยุทธนา อธิบดีกรมธนารักษ์” ลงพื้นที่เร่งพัฒนาที่ราชพัสดุแปลง “โรงภาษีร้อยชักสาม” เนรมิตเป็นโรงแรมหรู 5 ดาว

แบ่งปันข่าวนี้ :

“ยุทธนา อธิบดีกรมธนารักษ์” ลงพื้นที่เร่งพัฒนาที่ราชพัสดุแปลง “โรงภาษีร้อยชักสาม” เนรมิตเป็นโรงแรมหรู 5 ดาว

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2564 ณ โรงภาษีร้อยชักสาม : นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ นำคณะ ประกอบด้วย นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ณ ที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.043314 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เร่งพัฒนาเนรมิตเป็นโรงแรมหรู ไม่ต่ำกว่า 5 ดาว

หลังจากที่ กรมธนารักษ์ ได้ส่งมอบอาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาด 100 ครอบครัว ซึ่งเป็นอาคารชดเชย ตามโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.352532 กท.352597 – 352599 บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพฯ ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ให้กรมศุลกากร เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยให้กองบังคับการตำรวจน้ำ บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.180907 โดยปัจจุบัน ได้ก่อสร้างอาคารชดเชยคืบหน้าไปแล้วกว่า 81% คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือน พฤศจิกายน 2564

โดย นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า โรงภาษีร้อยชักสาม (ศุลกสถาน : อาคารอนุรักษ์ในเขตบางรักริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ต้ังอยู่บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.043314 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมานับต้ังแต่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) ในสมัยรัชการที่ 4 เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก มีผลให้ไทยต้องจัดตั้ง ศุลกสถาน (CUSTOMS HOUSE) หรือโรงภาษีขึ้น เพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม (ร้อยชักสาม) และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญา ในราวปีพ.ศ. 2427 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศุลกสถาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสินค้าหนีภาษีและการจัดเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งออกแบบโดยโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกผู้ถือ สัญชาติฝรั่งเศส โดยในอันดับแรกได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบบ้านเดิมของพระยาอาหารบริรักษ์ ตึกแบบจีนที่ใช้เป็นโรงภาษีมาแต่เดิมเป็นอาคารยาวสูงสองช้ัน วางผังตั้งฉากกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารด้าน ทิศเหนือเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก อาคารหลังด้าน ทิศใต้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและที่ทำการไปรษณีย์ ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2430 ได้รื้ออาคารหลังเก่าแบบจีนตรงกลางลงแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้น ในช่วงปี 2431 – 2433 เป็น อาคารศุลกสถาน ซึ่งเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรต้ังแต่สร้างเสร็จจนถึง พ.ศ.2492 กรมศุลกากรจึงย้ายไปอยู่ที่ คลองเตย ต่อมาในปีเดียวกัน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นที่ทำการตำรวจน้ำและสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และเนื่องจากที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสถานีดับเพลิงบางรักและตำรวจน้ำเป็นที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพสูงมาก และมีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

“กรมธนารักษ์ได้พิจารณาเห็นคุณค่าของที่ดินและอาคารดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ ในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และต่อมาได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับกิจการร่วมค้าฯ นำโดย บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โดยกิจการร่วมค้าฯ จะต้องก่อสร้างอาคารชดเชยให้กับกองบังคับการตำรวจน้ำและกรมศุลกากร พร้อมทั้งชำระผลประโยชน์ให้กับทางราชการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และ พัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานเพื่อเป็นโรงแรมระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,040.57 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568”

ทางด้าน นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ เปิดเผยว่า การบูรณะโรงภาษีร้อยชักสาม (ศุลกสถาน) โดย กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน พร้อมด้วยกรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของ อาคารศุลกสถาน (The Custom House) หรือโรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 5 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินการเนรมิตอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปีแห่งนี้ ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในย่านเจริญกรุง โดยจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ

นอกจากนี้ นายยุทธนา กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมธนารักษ์ยังได้เร่งรัดให้กิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการปรับปรุง ก่อสร้างให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งการเข้ามาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโครงการดังกล่าว ยังช่วยให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) เพื่อเป็นการบรรเทาจากผลกระทบในด้านเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย”

สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย(สภท.56 ปี)

หนังสือพิมพ์ปจะระชาไทออนไลน์

ธวัชชัยเฟื่องอนันต์รายงาน

T.Newsman007Online

อ่านแล้ว468 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.