มูลนิธิซอยด๊อกร่วมหน่วยงานในพื้นที่แก้วิกฤตหมาบ่อขยะ จ.ฉะเชิงเทรา

แบ่งปันข่าวนี้ :

มูลนิธิซอยด๊อกร่วมหน่วยงานในพื้นที่แก้วิกฤตหมาบ่อขยะ จ.ฉะเชิงเทรา

​จากกรณีสุนัขกว่า 700 ตัวพักอาศัยบริเวณบ่อขยะ หมู่ 9 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาง จ.ฉะเชิงเทรา มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) ลงพื้นที่ตรวจสอบและทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แล้ว

​นายสัตวแพทย์ตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการประชากรสุนัขและแมว ประเทศไทยของมูลนิธิฯ ร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขดังกล่าวร่วมกับผู้แทนจาก นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ อบต.หัวสำโรง นายอำเภอแปลงยาว ปศุสัตว์อำเภอแปลงยาว ปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยหน่วยงานดังกล่าวมีโครงการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนที่มากและยังมีการนำสุนัขมาทิ้งจากพื้นที่อื่น จึงทำให้จำนวนไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

​มูลนิธิซอยด๊อกได้จัดทีมลงพื้นที่ทำหมันสุนัขบ่อขยะระหว่างเดือนมีนาคม- เมษายน กว่า 200 ตัวโดยเป็นกลุ่มสุนัขที่เชื่องและเข้าหาคน พร้อมมอบอาหารสุนัขที่ได้รับสนับสนุนจาก บริษัท ฟู้ด อินโนวา เทรดดิ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัดแก่คนให้ข้าวในพื้นที่ โดยมีแผนลงพื้นที่ซ้ำเพื่อทำหมันสุนัขกลุ่มที่ไม่เข้าหาคนและตื่นกลัวด้วยการติดตั้งกรงตาข่ายขนาดใหญ่เพื่อดักจับสุนัข และจะย้ายจุดเพื่อให้ได้สุนัขมาทำหมันจนครบทุกตัว

​จากการสำรวจพบว่าสุนัขมีจำนวนน้อยกว่าตามที่รายงาน 700 ตัว และสุนัขส่วนใหญ่มีสภาพร่างกายปกติ มีเพียงบางส่วนที่มีปัญหาสุขภาพอย่างเห็นได้ชัดและผอมโซ โดยสุนัขที่ป่วยได้ถูกนำส่งมารักษากับสัตวแพทย์ของมูลนิธิฯ ส่วนกลุ่มที่ร่างกายผอมโซได้ประสานงานกับคนให้ข้าวในพื้นที่เรื่องอาหารและการดูแลสุขภาพ ผู้แทนของนิคมฯ เกตเวย์ซิตี้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบันได้ส่งสุนัขทำหมันและฉีดวัคซีนกับซอยด๊อกอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ด้านหลังบ่อขยะมีทางเข้า-ออก คาดว่าคนนำสุนัขมาปล่อยเพิ่มที่จุดนี้ ซึ่งสุนัขมารวมกลุ่มกันที่บ่อขยะเนื่องจากเป็นแหล่งอาหาร

​ซอยด๊อกได้ตั้งหน่วยทำหมันใน จ.ฉะเชิงเทราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยมีแผนเคลื่อนหน่วยไปจนครบทุกตำบล ผู้ให้ข้าวให้น้ำสุนัขในบริเวณบ่อขยะได้นำส่งสุนัขมาทำหมันที่หน่วยทำหมันซอยด๊อกอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคนให้ข้าวสุนัขอยู่ 2 กลุ่มซึ่งจะสลับกันมา 2 – 3 วันต่อสัปดาห์ หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวจึงได้รับอาหารสนับสนุนมากขึ้นจากผู้ใจบุญที่ส่งอาหารมาบริจาค อย่างไรก็ตามนายสัตวแพทย์ตันติกรชี้แจงว่าแผนการเรื่องอาหารสุนัขเป็นเรื่องจำเป็นและเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่ระดมทุนและจัดสรรงบสำหรับอาหารสุนัข พร้อมเสริมว่าท้องถิ่นต้องจัดสรรวัคซีนประจำปีอย่างต่อเนื่องให้แก่สุนัขในพื้นที่ เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดในบริเวณ และควรติดตั้งกล้องวงจรปิดในบริเวณรอบนิคมและบ่อขยะเพื่อป้องกันการนำสุนัขมาทิ้งเพิ่ม

​คุณวา ผู้ให้ข้าวให้น้ำสุนัขในบริเวณดังกล่าวแจ้งว่าขณะนี้มีผู้รับอุปการะลูกสุนัขแล้ว 45 ตัว และมีสุนัขที่ได้มาพักอาศัยบริเวณป้อมรักษาความปลอดภัยของนิคมฯ ช่วยดูแลพื้นที่และคุ้มกันอาณาเขต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้ในระยะยาวที่ยั่งยืน ตนนั้นให้อาหารสุนัขในบริเวณนี้มาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว รู้สึกสงสารและเป็นเรื่องดีที่ได้ประสานงานกับซอยด๊อกในการช่วยเหลือสุนัขกลุ่มนี้ โดยเธอสามารถช่วยเหลือได้ตามกำลังและอยากฝากให้ผู้คนรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ หันมาช่วยเหลือสุนัขเหล่านี้เพิ่มขึ้น

นายสัตวแพทย์ตันติกร ยืนยันว่าการทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขในพื้นที่อย่างต่อเนื่องแก้ปัญหาสัตว์จรจัดได้ และลดจำนวนลูกสุนัขที่จะเกิดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นโครงการระยะยาวที่ใช้งบประมาณและใช้ระยะเวลา ซึ่งสุนัขทั้งหมดไม่จำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่หรือนำไปไว้ที่ศูนย์พักพิง เนื่องจากศูนย์พักพิงทั้งที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐและเอกชนในขณะนี้รับรองสุนัขเต็มอัตราและไม่มีพื้นที่ว่างแล้ว การให้สุนัขกลุ่มนี้ได้อยู่ในพื้นที่เดิมของตัวเอง ทำหมันและฉีดวัคซีน และมีคนคอยให้ข้าวให้น้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

อ่านแล้ว80 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.