คอบร้าโกลด์ 2025 ฝึกร่วมผสม ดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX)

แบ่งปันข่าวนี้ :

คอบร้าโกลด์ 2025 ฝึกร่วมผสม ดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX)

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.68 พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา รองเสนาธิการทหาร (2) และ MG Michelle Schmidt Commanding General, 7th Infantry Division, U.S. Army เป็นประธานร่วมในพิธีปิดการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ 2025 ณ สนามฝึกทางยุทธวิธี กองทัพภาคที่ 2 (ภูลำไย) จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งชมการสาธิตการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX) โดยมี ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิตรประเทศ และผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ ร่วมในพิธี

การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ประกอบด้วยกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพเกาหลีใต้ โดยมียอดผู้เข้าร่วมการฝึกทั้งสิ้น 434 นาย มีกิจกรรมการฝึกฯ ประกอบด้วย การโดดร่มแทรกซึมเบื้องสูงจากฝ่ายไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย การซุ่มยิง การบินขัดขวางทางอากาศ การยิงเตรียมและการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ การเจาะช่องเปิดเส้นทางของทหารช่าง การเคลื่อนที่ประกอบการยิง การโจมตีทางอากาศการสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิด การยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ และการเข้ายึดที่หมาย โดยมียุทโธปกรณ์สำคัญ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่ F-16 ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้งขนาด 105 มิลลิเมตร เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 120 มิลลิเมตร จากกองทัพไทย และเครื่องบินขับไล่ F-16 เฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-64 Apache อากาศยานไร้คนขับ UAV T-Storm รถเกราะล้อยางลำเลียงพล Stryker ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง Carl Gustav จรวดต่อสู้รถถัง FGM-148 Javelin จากกองทัพสหรัฐอเมริกา

การฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยการฝึกที่ผ่านมานับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง ในการพัฒนาขีดความสามารถกำลังพลของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร มุ่งเน้นการวางแผนและปฏิบัติการร่วมทางไซเบอร์ในบริบทระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ ในการปฏิบัติการร่วมและผสมแล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาและไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อรักษาเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคโดยรวม

โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศที่ร่วมการฝึกฯ ในด้านการวางแผนและปฏิบัติการร่วม/ผสม สร้างสัมพันธภาพกับประเทศที่ร่วมการฝึกฯ และเพิ่มพูนความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันผ่านหลากหลายกิจกรรมในทุกด้าน รวมถึงการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ และภัยคุกคามทางไซเบอร์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ ตลอดจนทักษะและมุมมองด้านวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่แข็งแกร่งต่อไป

///////

อ่านแล้ว112 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.