สสว.10 สุราษฎร์ธานี จัดโครงการ เสริมสร้างความรู้และสานพลัง One Home พม.เพือป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 น. นางอุบล ทองสลับล้วน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการเสริมสร้างความรู้และสานพลัง One Home พม. เพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน จำนวน 60 คน
ด้วยสถานการค้ามนุษย์ เป็นอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นภัยที่คุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทย ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ รูปแบบการค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และได้กำหนดนโยบายมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงกำหนดแผนปฏิบัติการว่าด้วย กลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 (TIP Report 2024) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งหมายถึงประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำครบถ้วนในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ดังนั้น การขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ครอบคลุม ในทุกมิติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เชื่อมโยง ในทุกระดับโดยเฉพาะระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มี การจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยเร่งรัด จัดการ ช่วยเหลือ และสื่อสารสาธารณะ ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถเฝ้าระวัง เข้าถึงสถานการณ์และเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยมีบุคลากร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงพม.ที่อยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็นชุดปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และทีมสหวิชาชีพเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในแต่ละจังหวัด
การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงพม. ที่เชื่อมโยงกับ การดำเนินงานศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เจ้าหน้าที่ บุคลากร จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติเพื่อการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งระบุไว้ในข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทย ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 หรือ Tip Report 2024 และสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย อาทิ การค้าประเวณีออนไลน์ การหลอกลวงเด็ก เยาวชน และผู้หญิงผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร รวมทั้งการหลอกลวงโฆษณาการจัดหางานออนไลน์ เพื่อชักชวนคนไทยให้ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

จากรายงานสถานการณ์ทางสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต พบว่า สถิติ การดำเนินคดีค้ามนุษย์ในปี 2566 เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับ ปี 2563 2564 และ 2565 นอกจากนี้จังหวัดภาคใต้ตอนบนยังมีสถานะเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของกระบวนการค้ามนุษย์ และเป็นพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น การเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายข้อระเบียบ กลไก และแนวทางปฏิบัติด้านการป้องกันและช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นมากมาย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น คือ การพัฒนาศักยภาพทีมสหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการปฏิบัติงานตั้งแต่ความหมาย องค์ประกอบข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ และกระบวนการในการป้องกันและช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากค้ามนุษย์

สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 (สสว.10) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน มีบทบาทภารกิจสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างทักษะความรู้ให้กับบุคลากรของกระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่รับผิดชอบ ได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดทำ “โครงการเสริมสร้างความรู้และสานพลัง One Home พม. เพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่” วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและเสริมสร้างพลังบวกในการปฏิบัติงานช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไป ในแนวทางเดียวกันอย่างมีส่วนร่วม ในการป้องกัน และช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อย่างเหมาะสม เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎมาย
อ่านแล้ว108 times!