“พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ. ตร.ชื่นชม ‘ผู้กองอุ้ม’พูดสะท้อนถึงปัญหาการทำงานของพนักงานสอบสวน อย่างกล้าหาญ !!
“จากกรณี ร.ต.ท.หญิง ศิราณี บัวพันธ์ รอง สว.สอบสวน สภ.วชิรบารมี จว.พิจิตร ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น พูดผ่านแอพพ์ Tik Tok สะท้อนถึงปัญหาการทำงานของพนักงานสอบสวน แพร่หลายเป็นไวรัลโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ นั้น”
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าว “ผมได้ฟังน้องพนักงานสอบสวน ผู้กองอุ้ม พูดถึงปัญหาของพนักงานสอบสวนแล้ว ผมเข้าใจเลย น้องไม่ต้องกังวลนะครับ ว่าสิ่งที่น้องพูดจะเป็นปัญหากับความเจริญก้าวหน้าของการรับราชการ เพราะน้องนำเสนอความจริงที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานในวงการตำรวจเรา และกริยาท่าทางตลอดจนเนื้อหาที่น้องพูด มีความสุภาพอ่อนน้อม สมกับเป็น ผู้กองหญิง ที่มีวุฒิภาวะ เป็นที่พึ่งของประชาชน สะท้อนปัญหาให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ ยิ่งทราบว่าน้องเคยได้รับรางวัลตำรวจต้นแบบมาแล้ว ผมเชื่อว่าน้องอุ้ม จะต้องเติบโตและจะมีส่วนในการพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป
ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนนั้น นอกจากการที่ต้องปรับอัตรากำลังพลให้เหมาะสมกับปริมาณงานแล้ว ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีไปช่วยราชการหรือไม่ยอมรับคดี โดยอ้างว่าไม่ได้ทำสำนวนมานานแล้ว (ในกรณีถูกแต่งตั้งกลับมาในสายงานสอบสวน) โดยการทำให้พนักงานสอบสวนกลุ่มนี้ กลับมารับคดี ทำสำนวนการสอบสวน จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนได้เร็วที่สุด ซึ่งตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พนักงานสอบสวนทุกคน จะต้องรับคดี มีสำนวนการสอบสวนในความรับผิดชอบ จึงจะสามารถเบิกเงินประจำตำแหน่ง และรับรองผลการปฏิบัติงานการสอบสวนประจำปีได้ (เพื่อใช้ในการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ในสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน) ในเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาในระดับ กองบัญชาการ และกองบังคับการ ที่กำกับดูแลสถานีตำรวจ จะต้องจริงจังกับคำสั่งดังกล่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงที่ผมเคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น.(สอบสวน) ได้พยายามดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว สามารถพาน้อง ๆ พนักงานสอบสวนกลับบ้าน (มารับคดี ทำสำนวน) กว่า 80 คน โดยเฉพาะของ บก.น.4 พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู รอง ผบก.น.4 ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น พาน้อง ๆ กลับมาได้ถึง 30 คน
สำหรับกลุ่มที่ทำสำนวนการสอบสวนไม่คล่องแล้ว เนื่องจากทิ้งมานาน หัวหน้างานฯ/หัวหน้าสถานี จะต้องจัดพี่เลี้ยงให้ เข้าเวรคู่กัน และให้ช่วยฝึกทำสำนวน โดยให้เริ่มทำสำนวนคดีที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น คดีศาลแขวงฯ คดีไม่รู้ตัว คดีเสพฯ หรือครอบครองยาเสพติด เป็นต้น โดยไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง รอง ผกก.(สอบสวน) หรือ สว.(สอบสวน) ก็ตาม ต้องมีสำนวนในความรับผิดชอบ แต่ผู้บังคับบัญชา ก็ต้องให้ความเห็นใจ/ใส่ใจ/ให้โอกาส กลุ่มนี้ด้วยนะครับ อย่าคิดว่าเขาไม่อยากทำงาน
และอีกหนึ่งประเด็น ในปัจจุบันคดีความต่าง ๆ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการสอบสวนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ท่าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ทราบปัญหา ซึ่งอยู่ในระหว่างการแก้ไข คำสั่งต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น สำหรับแนวคิดในเรื่องการเจริญเติบโตในสายงานสอบสวน ถ้ามีโอกาสจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไปครับ” พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ให้กำลังใจครับน้องๆพนักงานสอบสวน
ไตรรงค์ผิวพรรณ
/////////////////////
อ่านแล้ว156 times!