อลงกรณ์”คิกออฟงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่จังหวัดเพชรบุรี(Field Day)ปี2566

แบ่งปันข่าวนี้ :

“อลงกรณ์”คิกออฟงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่จังหวัดเพชรบุรี(Field Day)ปี2566

       นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2566 ณ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลหนองจอก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีโดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีกล่าวรายงานต้อนรับโดยมีผู้เข้าร่วมงานอาทิ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายบรรพต มามาก ประธานศพก.เพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ยุวเกษตรกร ซึ่งการจัดงานในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชน ให้เกษตรกรได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกร


       สำหรับการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  (Field Day) ปี 2566 นี้ พืชหลัก คือ ข้าว โดยการจัดงานในวันนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากทุกอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี มาร่วมเรียนรู้ด้วย ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้จะแบ่งสถานีถ่ายทอดความรู้ ออกเป็น 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ที่ 1 การปรับปรุงบำรุงดิน (ทำดินให้เป็นดาว) สถานีเรียนรู้ที่ 2 คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว (ปริญญาข้าว) สถานีเรียนรู้ที่ 3 การควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (ป้องกันอย่างยั่งยืน) และสถานีเรียนรู้ที่ 4 การสร้างมูลค่าเพิ่ม (ทุกอณูมีค่า) นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบริการการเกษตรอื่น ๆ ให้เกษตรกรจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรด้วย
     

 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีเป้าหมายสำคัญ 2 ระดับ คือ 1) การทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ และ 2) การทำให้กลุ่มเป้าหมายนำข้อมูลไปใช้และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ที่ได้รับ ทั้งนี้ ด้วยภูมิอากาศที่แปรปรวน และการแข่งขันในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนเป็นอย่างมาก รวมถึงกลไกการค้าที่มุ่งเน้นคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิตที่ต้นทางและการบริโภคที่ปลายทาง พี่น้องเกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องการลดต้นทุนกระบวนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น การเพาะปลูกตามความเหมาะสมของดินและการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด การเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินของตนและการลดการพึ่งพากลไกราคาด้วยการทำไร่นาสวนผสม เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปผลผลิต และการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ


       อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสู่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. ซึ่งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของพี่น้องเกษตรกร และปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสินค้าหลักในพื้นที่และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งประยุกต์องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ อย่างแท้จริง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องเกษตรกรจะสามารถนำองค์กรความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้และนำไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และทำให้การผลิตในฤดูกาลใหม่นี้เป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน./

สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

อ่านแล้ว132 times!

แบ่งปันข่าวนี้ :

You May Also Like

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.